เนื่องในวโรกาสอันทรงเกียรติวันคล้ายวันประสูติของท่านหญิงฟาติมะห์มะอฺศูมะฮ์(ซ.ล.)และวันแห่งบุตรี ฝ่ายการต่างประเทศของฮะรัมท่านหญิงฟาติมะห์มะอฺศูมะฮ์(ซ.ล.)ใด้จัดให้มีการสัมภาษณ์พิเศษกับซัยยิดะห์ไซหนับ ศักดิ์กิตติชา ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาเยาวชนสตรี อัลมะฮ์ดียะห์  กรุงเทพฯ ประเทศไทย

1.ก่อนอื่นกรุณาแนะนำตัวคุณเองรวมถึงชีวประวัติสักเล็กน้อยของคุณและช่วยเล่าถึงช่วงเวลาที่คุณศึกษาอยู่ ณ ประเทศอิหร่านให้พวกเราหน่อยค่ะ.

ดิฉันชื่อ ซัยยิดะห์ ไซหนับศักดิ์กิตติชา ได้เริ่มศึกษาศาสนา ณ มหาวิทยาลัยชะฮีดะห์ บินตุ้ลฮูดา ตั้งแต่ปี 2002 จนจบปริญญาตรีสาขา อิสลามศึกษา ต่อมาได้ทำการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาปรัชญาอิสลามและเทววิทยา โดยสำเร็จการศึกษาในปี 2009 ภายหลังจากนั้น ได้กลับมาทำงานในประเทศไทย.

  เนื่องจากครอบครัวของดิฉันได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้วิชาความรู้ด้านศาสนา การเรียนศาสนาในประเทศอิหร่านจึงเป็นไปอย่างดีด้วยการสนับสนุนชี้แนะจากบิดา ท่านซัยยิด มะฮมูดชาฮุไซนี และ แม่ อีกทั้งการอยู่ในร่มเงาของท่านหญิง ฟาตีมะห์มะศูมะห์ (ซ) ทำให้นักศึกษาทุกคนอุ่นใจแม้ว่าจะต้องห่างไกลจากครอบครัวของตนเองเป็นเวลาหลายปีก็ตาม.

2.กรุณาเล่าถึงบทบาทการทำงานของคุณหลังจากจบการศึกษามาแล้วให้เราได้ทราบหน่อยค่ะ.

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากประเทศอิหร่าน ดิฉันได้เดินทางกลับประเทศไทยและทำงานที่สถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮฺดียะห์ โดยในยุคนั้นมี ซัยยิดะห์  บุชรอ ฮุซัยนีเป็นผู้อำนวยการสถาบัน และได้แนะนำแนวทางการทำงานต่อดิฉัน ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันทำงานในสถาบันอัลมะฮฺดียะห์ ได้รับหน้าที่หลากหลายตำแหน่ง โดยเบื้องต้นเป็นครู ต่อมาได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยฝ่ายค้นคว้า ต่อมาได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของสถาบัน และ ปัจจุบันดำรงหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของสถาบันเป็นเวลาเกือบสองปีแล้วค่ะ.

3.ช่วยกล่าวถึงประวัติของสถาบันศึกษาศาสนาสตรี อัลมะฮ์ดียะห์โดยย่อ รวมไปถึงจำนวนนักศึกษา วิชาเรียนและกิจกรรมต่างๆ ให้เราได้ทราบหน่อยค่ะ.

สถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮฺดียะห์ ถูกก่อตั้งในปี  1379 โดยท่านชะฮีดเชคฮุเซนพูร ซึ่งเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยนานาชาติอัลมุศตอฟาประจำประเทศไทย โดยมีคุณครูรุวัยดา สร้อยระยับเป็นผู้อำนวยการ ต่อมาซัยยิดะห์ บุชรอฮูซัยนี ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและทำการบริหารเป็นเวลาหลายปี  สถาบันอัลมะฮฺดียะห์ ได้ทำการอบรมนักศึกษาเยาวชนหญิงของเราตั้งแต่อายุ15 ปี โดยมีนักศึกษาศาสนาที่สำเร็จการศึกษาศาสนามาจากประเทศอิหร่านเป็นคณะอาจารย์ และคณะทำงาน โดยนักศึกษาจะศึกษาในสถาบันของเราในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง ตามระบบการศึกษาและหน่วยกิจของมหาวิทยาลัยนานาชาติอัลมุศตอฟา หลังจากสามปีครึ่ง หากผ่านการสอบคัดเลือกเรียนต่อในประเทศอิหร่านจะเดินทางเพื่อศึกษาต่อ และนักศึกษาบางท่านได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยประเทศไทย จุดมุ่งหมายของเราในการทำงานคือการทำให้เยาวชนหญิงในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาความรู้ด้านศาสนาอย่างแท้จริง  ในระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา เรามีนักศึกษาเกือบ200คนที่ได้ผ่านการศึกษาจากสถาบันอัลมะฮฺยะห์ มาแล้ว.

4.ทางสถาบันศึกษาศาสนาสตรี อัลมะฮ์ดียะ มีโปรแกรมพิเศษใดๆเพื่อการเสริมสร้างพัฒนาจิตวิญญาณและจริยธรรมอิสลามให้กับเยาวชนสตรีของเราบ้างคะ?

ทางสถาบันได้มีการจัดโปรแกรมในสามแผนกด้วยกันกล่าวคือฝ่ายวิชาการ ฝ่ายเสริมสร้างพัฒนาจิตวิญญาณ และ ฝ่ายค้นคว้าวิจัย ซึ่งทั้ง 3 แผนกมีจุดประสงค์อันหนึ่งอันเดียวกันคือเสริมสร้างพัฒนาจิตวิญญาณและจริยธรรมของอิสลามให้กับกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นสาวที่เข้ามาศึกษาศาสนาในสถาบันของเรา โดยฝ่ายเสริมสร้างพัฒนาจิตวิญญาณจะมีการจัด โปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างพัฒนาจิตวิญญาณของนักศึกษาเช่น การอ่านดุอา  การจัดงานในวาระสำคัญทางศาสนา การฟังเทศนาธรรม และฯ ทางสถาบันจะดำเนินการโปรแกรมดังกล่าวตลอดระยะเวลา สามปีครึ่งที่ นักศึกษาทำการศึกษาอยู่ ซึ่งผลที่จะได้รับส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวของนักศึกษาเอง.

5.สถาบันอัลมะฮ์ดียะห์มีโปรแกรมอะไรบ้างเพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของตนในฐานะเยาวชนหญิงสาวหรือมุสลิมะฮ์คนหนึ่งที่สามารถนำมาซึ่งประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมและสังคมของตนได้?

นอกเหนือจากการถ่ายทอดวิชาความรู้ในเรื่องของวิชาการศาสนาแด่นักศึกษาแล้ว ทางสถาบันจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถของตนในฐานะเยาวชนหญิงที่มีศาสนาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การให้นักศึกษามีโอกาสในการบรรยายโดยเริ่มต้นจากการบรรยายให้รุ่นน้อง การทำเพจที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การทำนิตยสาร การร่วมมีกิจกรรมในค่ายอบรมศาสนาต่างๆ และฯ ซึ่งทั้งหมด นักศึกษาจะทำโดยมีการชี้แนะและปรึกษาจากคณะอาจารย์ของสถาบันเพื่อมีกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมในฐานะนักเรียนศาสนา และ เยาวชนหญิงคนหนึ่ง.

6.ตามทัศนะของคุณนั้นอะไรคือความแตกต่างระหว่างสถานภาพของเยาวชนหญิงสาวในวัฒนธรรมแห่งสังคมไทยกับพจนารถของอะฮ์ลุลเบต (อ.)ที่กล่าวถึงสถานภาพของบุตรสาวและเยาวชนหญิงสาวในอิสลาม?

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือการทำให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของตนเองในมุมที่มีความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ปัจจุบันในสังคมของเรา สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งใดคือความสวยงามภายนอก และ การแต่งกายที่ทันสมัยซึ่งเป็นการตีความของความสวยงามโดยผู้ที่ไม่รู้คุณค่าที่แท้จริงของสตรี  จึงทำให้เราเห็นสาวๆ ในสังคมของเราที่มีการแต่งกายที่สวยตามความคิดของเขาแต่ไร้ซึ่งความสวยงามภายในจิตใจ และยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ในสังคม

ในสังคมที่ไม่มีศาสนา ผู้หญิงโดยเฉพาะวัยรุ่นมีค่าได้เพียงอาหารตาหรือมากกว่านั้นในมุมที่เขามอง ในขณะที่จากมุมมองของอะฮลุลเบต(อ) ลูกสาวคือความโปรดปราณจากพระองค์ซึ่งจะต้องถูกดูลูแลรักษาเป็นอย่างดี แน่นอนมุมองที่แตกต่างทำให้การดูแล และ การปฏิบัติ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.

7.ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดียะห์ คุณมีวิธีการใดเพื่อปกป้องเยาวชนของเราทั้งชายและหญิงให้ห่างไกลจากสถานที่ที่ไม่สอดคล้องกับอิสลามและภัยอันตรายที่มีอยู่ในสังคมบ้างคะ?

อันดับแรก เราต้องเข้าใจว่า เราจะไม่สามารถดูแลนักศึกษาของเราให้ปลอดภัยได้ตลอดไป เพราะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่พวกเขาจะอยู่ ในการดูแลของเรา สิ่งที่ทางสถาบันจะต้องทำ คือ การทำให้พวกเขาเข้าใจถึงศาสนาอย่างแท้จริงเพราะความเข้าใจในหลักการของศาสนาจะทำให้พวกเขารู้ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถปกป้องเขาจากภัยอันตรายที่มีอยู่ในสังคม นอกจากว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องพวกเขาอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการให้ความรู้แล้วเราจะพยายามผูกสัมพันธ์ระหว่างเขาและพระผู้เป็นเจ้าให้ได้มากที่สุด เนื่องจากการผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้พวกเขาไม่นำตนเข้าไปอยู่ในอันตรายที่มีอยู่ในสังคม

8.ในทัศนะของคุณ อะไรคือภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่และร้ายแรงที่สุดสำหรับเยาวชนหญิงสาวในยุคปัจจุบัน?

ปัจจุบันภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและใกล้ตัวที่สุดนั่นก็คือ สื่อโฆษณาที่เข้าถึงตัววัยรุ่นได้อย่างง่ายดายโดยผ่าน Social ซึ่งเชิญชวนให้วัยรุ่นของเราทำอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่สามารถรู้ได้เลย นอกเหนือจากนั้นภัยอันตรายที่หนักที่สุด คือ การละเลยของครอบครัวที่มีต่อบุตรสาวจึงทำให้พวกเขาอาจจะตกอยู่ในภัยอันตรายของสังคมได้อย่างง่ายดาย.

9.สุดท้ายนี้ หากคุณมีคำพูดหรือสาส์นสำคัญอะไรที่อยากจะฝากถึงเยาวชนหญิงสาวต่างศาสนิกโดยเฉพาะเยาวชนวัยรุ่นสาวในสังคมของคุณเอง เชิญฝากใว้ได้เลยค่ะ?

การรักนวลสงวนตัว มีอยู่ในคำสั่งสอนของทุกศาสนา พวกเราในฐานะผู้หญิงควรรู้คุณค่าที่แท้จริงของตนและไม่นำศักดิ์ศรีเกียรติยศของตนเองไปวางให้ผู้อื่นที่ไม่รู้ค่าเหยียบย่ำ เราควรรู้จักคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง เมื่อตัวเราเองเห็นคุณค่าของตัวเองตามจุดประสงค์ของพระองค์เราจะรักษาและดูแลปกป้องตัวเอง….

10.เนื่องในวโรกาสอันทรงเกียรติแห่งวันวิลาดัตของท่านหญิงฟาติมะฮ์มะอฺศูมะห์ (ซ.ล) และวันแห่งบุตรสาว ทางสถาบันอัลมะฮ์ดียะห์ใด้จัดให้มีโปรแกรมพิเศษอะไรบ้างคะ?

แน่นอนเราจะมีงานเฉลิมฉลอง วันวิลาดัตของท่านหญิงเช่นทุกปี และจะพยายามให้นักศึกษาของเราเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนหญิงตามแนวทางของอะฮลุลเบต(อ) เราจัดงานทุกปีที่ผ่านมา คณะครูของเราเกือบทุกท่านเป็นนักศึกษาที่จบจากเมืองกุม เคยอยู่ภายใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร ของท่านหญิง เราจะเล่าถึงเรื่องราวของท่านหญิงให้นักเรียนฟัง ตั้งแต่ความสูงส่ง ความสามารถด้านวิชาความรู้ของนาง ความเป็นบุตรสาว น้องสาว และ อัมเมะของบรรดามะอฺศูมีน จนไปถึงโดมทองที่เป็นที่พึ่งพิงจิตใจให้กับนักเรียนศาสนาต่างแดนทุกคน นักเรียนของเราจึงจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจกับท่านหญิงถึงแม้พวกเขาจะยังไม่เคยไปเมืองกุมก็ตาม.

https://int.amfm.ir/wp-admin/post.php?post=4613&action=edit